Last updated: Nov 26, 2019 | 122 จำนวนผู้เข้าชม | โรคทางระบบกระดูกกล้ามเนื้อ
ปวดเข่าด้านใน หลังวิ่งหรือยืน เดินนานๆ จัดการได้ด้วยตัวเอง
อาการปวดเข่าด้านในที่มักเกิดหลังจากวิ่งออกกำลังกาย ยืนหรือเดินใช้งานนานๆ ผมมักนึกถึงอาการอักเสบของเอ็นข้อเข่าด้านใน หรือ ถุงน้ำข้อเข่าด้านในอักเสบครับ ถุงน้ำที่ว่านี้ก็อยู่ใต้เอ็นข้อเข่านั่นเองแหละครับ
อาการและอาการแสดง
จริงๆอาการปวดเข่าด้านในที่เกิดจากเอ็นข้อเข่าหรือถุงน้ำด้านในข้อเข่าอักเสบนั้น จะมีอาการปวดด้านล่างและในต่อข้อเข่าเมื่อใช้งาน โดยมักจะปวดบริเวณใต้ข้อเข่าด้านในประมาณ 3 นิ้วมือ ผมมักจะเจอบ่อยๆว่าผู้ที่มีอาการดังกล่าวมักจะมีปัญหามากตอนขึ้นและลงบันได โดยเฉพาะขาลงนี่มักจะเป็นอะไรที่ออกจะเป็นของแสลงสำหรับผู้ที่มีอาการอักเสบบริเวณดังกล่าวเลยก็ว่าได้ เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะจุดเกาะของเอ็นดังกล่าวเป็นแหล่งรวมของกล้ามเนื้อข้อเข่าถึง 3 ตัวด้วยกัน เมื่อใช้งานโดยเฉพาะขาลงบันได กล้ามเนื้อจะต้องหดตัว(แบบยืดยาว)นานกว่าปกติเลยมักจะปวดมากในช่วงดังกล่าวครับ
วันนี้ผมมีวิธีรักษาตัวเองง่ายๆมาฝากครับ
-ใช้ถุงน้ำแข็งประคบบริเวณด้านในข้อเข่า 15-20 นาที
-หลังจากนั้นลดการทำงานของกล้ามเนื้อทั้ง 3 มัดด้วยท่าออกกำลังกายและวิธีการดังภาพนะครับ
โดยวิธีการคือ ให้ยกค้างไว้ 7-10 วินาที ในแต่ละท่า ทำท่าระประมาณ 10 ครั้ง (สามารถน้อยกว่า 10 ครั้งได้หากมีอาการบาดเจ็บขณะออกกำลังกายหรือคุณภาพขณะออกลดลงมาก เช่น ยกได้ประมาณ 5 ครั้ง เริ่มมีอาการสั่นมากหรือมีอาการเจ็บ ไม่ควรที่จะฝืนออกกำลังภายในครั้งเดียวจนถึง 10 ครั้ง ให้ใช้วิธีการแบ่งการออกกำลังกาย เป็น 5 ครั้ง 2 รอบแทนครับ)
กลไกการป้องกันอันตรายของร่างกาย ที่ระบบประสาทและกล้ามเนื้อมนุษย์สร้างขึ้นนี่เป็นสิ่งมหัศจรรย์มากนะครับ เพราะเมื่อไหร่ที่ระบบประสาทที่เปรียบเสมือนไฟฟ้าเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายเรา ได้รับสัญญาณเตือนถึงความไม่ปลอดภัย ก็จะสั่งการเพื่อช่วยลดอันตรายที่เกิดขึ้นนั้น เช่นท่าออกกำลังกายทั้ง 3 ท่าที่นำมาใช้รักษานั้น เป็นการใช้กลไกธรรมชาติที่ให้กล้ามเนื้อที่เอ็นบาดเจ็บนั้นทำงานในเวลาที่นานพอ (ประมาณ 7-10 วินาที) ระบบประสาทก็จะส่งคำสั่งมายับยั้งให้ตัวกล้ามเนื้อนั้นคลายตัวซึ่งจะส่งผลลดความตึงของเอ็นกล้ามเนื้อที่อักเสบไปด้วยครับ
นำมาเล่า เอามาฝากท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สุขภาพดีไม่มีขาย หมั่นออกกำลังกายอย่างพอเพียง แข็งแรงถ้วนหน้าทุกท่าน สวัสดีครับ
ผู้เรียบเรียง : กภ. สุริยา วรรณา
Nov 10, 2019
Nov 17, 2019